Aximdaily
ประวัติ จอร์จ โซรอส

จอร์จ โซรอส คือใคร? ประวัติความเป็นมาและฉายา “พ่อมดการเงิน”

คุณเคยได้ยินเกี่ยวกับฉายา “พ่อมดทางการเงิน” บ้างหรือไม่? ฉายานี้ถูกตั้งให้แก่ “จอร์จ โซรอส” เขาเป็นผู้บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่สามารถทำผลตอบแทน “สองหลัก” ได้อย่างต่อเนื่องมาหลายสิบปี เขาเป็นตำนานนักลงทุนที่ยังมีชีวิต แต่ในขณะเดียวกันเขาก็เป็นคนที่ได้รับคำวิจารณ์อย่างร้อนแรงเกี่ยวกับการเข้าไป “โจมตีสกุลเงิน” ในหลาย ๆ ครั้ง

บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับเขาให้มากยิ่งขึ้นว่า จอร์จ โซรอส คือใคร, ประวัติความเป็นมาเป็นอย่างไร มีทฤษฎีการลงทุนอย่างไรบ้าง?

จอร์จ โซรอส คือใคร?

จอร์จ โซรอส คือ มหาเศรษฐีชาวฮังการี-อเมริกัน เติบโตจากธุรกิจการเงินและหลักทรัพย์ในปี 1950 โดยทำงานเป็นนักวิเคราะห์และเทรดเดอร์ในบริษัทการลงทุนหลายแห่ง จนปีปี 1969 เขาก่อตั้ง Soros Fund Management ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหนึ่งในกองทุนเฮดจ์ฟันด์ (Hedge Fund) ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก และได้รับฉายา “พ่อมดการเงิน” ในฐานะที่เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่เข้าใจระบบทุนนิยมมากที่สุดคนหนึ่งของโลก

ประวัติความเป็นมาของ “จอร์จ โซรอส”

จอร์จ โซรอส เกิดที่บูดาเปสต์ ประเทศฮังการีในปี 1930 พ่อของเขา Tivadar Soros เป็นทนายความและนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ส่วน Erzebat Schwartz แม่ของเขาเป็นครู พวกเขาเป็นครอบครัวชาวยิว ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จอร์จ โซรอสและครอบครัว ถูกบีบให้ต้องหนีออกจากประเทศฮังการี เนื่องจากการยึดครองของนาซี พวกเขาต้องหลบซ่อนและใช้ตัวตนปลอมเพื่อเอาชีวิตรอดจากสงคราม หลายคนวิเคราะห์ว่า การต้องเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่เลวร้าย คือสิ่งที่ทำให้ จอร์จ โซรอส ประสบความสำเร็จอย่างสูงในโลกของการลงทุน

จอร์จ โซรอส หลบหนีออกจากประเทศได้ และเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่อังกฤษ เขาต้องทำงานอย่างหนักเพื่อหาเงินในการดำรงชีวิตและการศึกษา เขาเคยเป็นทั้งพนักงานยกกระเป๋ารถไฟหรือพนักงานเสิร์ฟ ในที่สุดจนสามารถสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ London School of Economics (LSE) ในปี 1951 สาขาปรัชญา และเขาก็จบ ป.โท ในสาขาปรัชญาอีกครั้ง LSE ที่เดิมในปี 1954

จอร์จ โซรอส คือใคร
George Soros, March 2013 ที่มาภาพจากเว็บไซต์ – georgesoros.com

หลังจากนั้น เขาเริ่มต้นในอุตสาหกรรมทางการเงินใน “Singer and Friedlander” ในป 1954 จากตำแหน่งเสมียน และไต่เต้าไปเรื่อย ๆ จนได้ไปอยู่แผนก “Arbitrage” และด้วยฝีไม้ลายมือประกอบกับสติปัญญาอันสูงส่ง เพื่อนของเขา “โรเบิร์ต เมเยอร์” (Robert Mayer) แนะนำให้ จอร์จ โซรอส ไปสมัครงานที่ “F. M. Mayer” ซึ่งของบริษัทที่พ่อของโรเบิร์ตเป็นเจ้าของ และนั่นทำให้ จอร์จ โซรอส ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง “Arbitrage trader” แบบเต็มตัว

จอร์จ โซรอส พอมีชื่อเสียงในวงการอยู่บ้าง แต่เขาก็ยังเป็นพนักงานกินเงินเดือนไปเรื่อย ๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์นานถึง 16 ปี ก่อนที่จะก่อตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์ในปี 1970 ชื่อว่ากองทุน “Soros Fund Management” และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ จอร์จ โซรอส คือตำนานอย่างแท้จริง และได้รับฉายา “พ่อมดทางการเงิน”

ทฤษฎี Reflexivity

จอร์จ โซรอส ได้นำเสนอทฤษฎีที่เรียกว่า “Theory of Reflexivity” หรืออาจเรียกในภาษาไทยว่า “ทฤษฎีการสะท้อนกลับ” ซึ่งเป็นทฤษฎีที่พัฒนาขึ้นมาจากฐานความคิดที่ว่า “ตลาดการเงินไม่ได้มีประสิทธิภาพอย่างสมบูรณ์” (ตรงกันข้ามกับหลัก Efficient Market) และการกระทำของผู้มีส่วนร่วมในตลาดสามารถมีอิทธิพลต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในตลาดในภายหลัง รวมถึงอิทธิพลต่อผู้ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมตลาด ณ เวลานั้น

Theory of Reflexivity เชื่อว่า การรับรู้ของผู้เข้าร่วมตลาดเกี่ยวกับตลาดนั้นไม่ถูกต้องเสมอไป โดยการรับรู้เหล่านี้สามารถมีอิทธิพลต่อสถานะที่แท้จริงของตลาดได้ ตัวอย่างเช่น หากผู้เข้าร่วมตลาดมีความเชื่อมั่นในเชิงบวก พวกเขาอาจลงทุนมากขึ้นในหุ้นหรือสินทรัพย์เฉพาะอย่าง ซึ่งทำให้ราคาสูงขึ้น และเมื่อราคาสูงขึ้น ผู้เข้าร่วมตลาดจะยิ่งมีมากขึ้น และทำให้ราคาสูงขึ้นไปอีก สิ่งนี้สร้างวงจร “การเติมเต็มตัวเอง”

อธิบายอย่างง่ายก็คือ เมื่อราคาสินทรัพย์เคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันกับสิ่งที่ผู้เข้าร่วมตลาดกลุ่มแรกเชื่อถือ “ความเชื่อ” (การรับรู้) เหล่านั้นก็จะกลายเป็นความจริงขึ้นมา และยิ่งหากความเชื่อมั่นของบริษัทเองก็เพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น บริษัทอาจเริ่มลงทุนมากขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวหรือโครงการใหม่ ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มรายได้และการเติบโตต่อไป สุดท้ายนำไปสู่การเชื้อเชิญผู้ที่ยังไม่มีส่วนร่วมในตลาด (Observer) จนราคาสินทรัพย์เติบโตไม่สอดคล้องกับมูลค่าที่แท้จริง

ภาพรวมของ Theory of Reflexivity คือการตระหนักถึง “ตลาดที่จะเบี่ยงเบนไปจากมูลค่าที่แท้จริง” ซึ่งนั่นนำไปสู่การกลับมามุ่งเน้นที่การทำความเข้าใจปัจจัยพื้นฐานที่หามูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์นั้น ๆ เชื่อว่า นี่เป็นหลักการสำคัญที่ทำให้ จอร์จ โซรอส สามารถมองต่างเมื่อราคาหุ้นถึงจุดสูงสุด หรือเป็นฟองสบู่ได้

ตำนานการถล่มเงินปอนด์อังกฤษในปี 1992

วีรกรรมของ จอร์จ โซรอส ที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง คือ เหตุการณ์ Black Wednesday ในปี 1992 ซึ่งเกิดจากรัฐบาลอังกฤษไม่สามารถตรึงค่าเงินกับระบบ European Exchange Rate Mechanism (ERM) ไว้ได้ นำไปสู่การอ่อนค่าของสกุลเงินปอนด์อย่างรุนแรง

กล่าวคือ ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 รัฐบาลอังกฤษได้ตรึงค่าของเงินปอนด์ไว้ที่มาร์คเยอรมัน (Deutsche Mark) และสกุลเงินอื่น ๆ ในยุโรป ซึ่งทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของระบบ ERM แต่สหราชอาณาจักรในตอนนั้นไม่ได้มีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งเทียบเท่าได้กับ “เยอรมัน” ทำให้ภาพรวมของสกุลเงินปอนด์อ่อนค่ากว่ามาร์คเยอรมันโดยเสมอ ผลักดันให้สหราชอาณาจักร ต้องใช้เงินทุนจำนวนมากในการเข้าพยุงค่าเงินปอนด์ของตัวเอง

จอร์จ โซรอส มองว่า วิธีการนี้เป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืนและเศรษฐกิจของอังกฤษเองก็อยู่ในภาวะตกต่ำ เขาจึงเดิมพันกับเงินปอนด์โดยการชอร์ต (Short) แต่ไม่ได้มีเพียง “โซรอส” ที่มองเห็นถึงโอกาสความพังพินาศที่กำลังจะเกิดขึ้น นัดเก็งกำไรและกองทุนทั่วโลกต่างเข้าใจสถานการณ์ดี พวกเขาใช้ “ตราสารอนุพันธ์” ในการทุ่มซื้อ “มาร์คเยอรมัน” และขายเงินปอนด์ (เทรดแบบคู่เงิน Forex) ธนาคารกลางอังกฤษไม่อาจต้านทานแรงโจมตีจากทั่วโลกได้ และต้องยกเลิกการตรึงค่าเงิน (Unpeg) ในวันที่ 16 กันยายน 1992 นำไปสู่การอ่อนค่าลงของเงินปอนด์ และเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “Black Wednesday”

จากเหตุการณ์นี้ กองทุน Soros Fund Management ทำกำไรได้สูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์ และเขากลายเป็นที่รู้จักในนาม “ชายผู้ทำลายธนาคารแห่งอังกฤษ” (The Man Who Broke the Bank of England) เหตุการณ์ Black Wednesday มีผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของอังกฤษ นำไปสู่ภาวะถดถอยและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลถึงการเมืองภายในประเทศของอังกฤษ โดยทำให้เป็นการสิ้นสุดการครองอำนาจของพรรคอนุรักษ์นิยมในสหราชอาณาจักร ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 1979 (1979 – 1992)

จอร์จ โซรอส โจมตีสกุลเงินบาทในปี 1997

ในปี 1997 (พ.ศ. 2540) เงินบาทประสบกับวิกฤตการณ์ทางการเงินอย่างรุนแรงซึ่งส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด หนึ่งในผู้เล่นหลักในวิกฤตนี้คือ “จอร์จ โซรอส”

ช่วงหลายปีก่อนเกิดวิกฤต เป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตและพัฒนาอย่างแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม การเติบโตนี้ได้รับแรงหนุนจากการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมหาศาลและการให้สินเชื่ออย่างง่าย แม้จะนำไปสู่การขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ก็ทำให้ระดับหนี้ต่างประเทศของประเทศไทยอยู่ในระดับที่เสี่ยงมาก

และสิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดคือการที่ “เงินบาทถูกตรึงไว้กับสกุลเงินดอลลาร์” (Peg) แต่สินเชื่อไร้คุณภาพ ประกอบกับการขาดดุลการค้าจำนวนมาก นักลงทุนจึงเริ่มสูญเสียความเชื่อมั่นในเงินบาทและขายเงินบาทออก กดดันให้รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจำนวนมากเพื่อพยุงค่าเงินไว้ แต่เมื่อประเทศไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กและไม่ได้มีเงินทุนสำรองที่จะพยุงมูลค่าของเงินบาทไว้ได้ตลอดเวลา 

จอร์จ โซรอส และกลุ่มเฮดจ์ฟันด์รายใหญ่อื่น ๆ มองเห็นโอกาสในการทำกำไรนี้ พวกเขาเดิมพันกับเงินบาท โดยการ “ขายชอร์ต” ซึ่งหมายความว่า พวกเขาจะยืมเงินบาทและขายโดยคาดหวังว่ามูลค่าของสกุลเงินจะลดลงอีก สิ่งนี้ยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้ค่าเงินอ่อนค่าลงอีก

และสุดท้ายในเดือนกรกฎาคม 1997 ไทย “หมดหน้าตัก” จำเป็นต้องยอมเลิกตรึงมูลค่าเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐ และปล่อยให้ลอยตัวตามกลไกตลาด ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง และนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเงินในประเทศไทย ธนาคารและบริษัทต่าง ๆ ประสบปัญหาขาดทุนเนื่องจากภาระหนี้สินจำนวนมาก (เป็นหนี้ในรูป USD จึงทำให้หนี้สินที่แท้จริงเพิ่มขึ้นจากการอ่อนค่าของเงินบาท) ความเสียหายลามไปทั่วภูมิภาคเอเชีย จนเรียกขานวิกฤตการณ์นี้ว่า “ต้มยำกุ้ง” โดยเป็นการสื่อว่า ต้นเหตุมาจากประเทศไทย (ประเทศที่ขายต้มยำกุ้ง)

จอร์จ โซรอส กับการมีส่วนร่วมใน “พรรคเดโมแครต”

นอกจากในฐานะนักลงทุนแล้ว จอร์จ โซรอส คือนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในฐานะผู้สมาทานอุดมการณ์ “เสรีนิยม” เขาเป็นผู้บริจาครายใหญ่ให้กับพรรคเดโมแครต (Democratic Party) เขาเป็นผู้สนับสนุนหลักในการหาเสียงของอดีตประธานาธิบดี “บิล คลินตัน” และยังให้การสนับสนุนทางการเงินในการหาเสียงของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตคนอื่น ๆ เช่น บารัค โอบามา, ฮิลลารี คลินตัน

จอร์จ โซรอส ยังมีส่วนร่วมในแคมเปญทางการเมืองที่มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกา เขาสนับสนุนองค์กรต่าง ๆ ในหลากหลายประเด็น เช่น การศึกษา, การดูแลสุขภาพ และการลดความยากจน และยังเป็นแกนนำสนับสนุนการปฏิรูปการย้ายถิ่นฐานและการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในประเด็นดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นประเด็นที่อ่อนไหวในสหรัฐฯ และยุโรป

สิ่งที่นักลงทุนควรเรียนรู้จาก “จอร์จ โซรอส”

มาถึงตอนนี้ อยากจะขอสรุปมุมมองจากผู้เขียนว่า สิ่งที่เราน่าจะได้เรียนรู้จาก “จอร์จ โซรอส” น่าจะแบ่งได้ 3 เรื่องดังต่อไปนี้ เรื่องแรกคือ “การเอาตัวรอด” นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จได้ไม่ใช่คนที่เลือกเส้นทางที่ถูกต้องเสมอไป แต่คือคนที่สามารถอยู่รอดจนถึงวันที่เขาประสบความสำเร็จ เฉกเช่นเดียวกับ จอร์จ โซรอส ที่ประการแรกเขาต้องคิดเอาตัวรอดจากสถานการณ์อันเลวร้ายในฮังการีให้ได้ก่อน

เรื่องต่อมาคือความอดทนและความใจเย็นพี่จะรอจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม จอร์จ โซรอส ฝึกฝนทักษะและพัฒนาตัวเองมานานกว่า 16 ปี กว่าที่จะตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์ของตัวเอง และเรื่องสุดท้ายและการเข้าใจว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่นในด้านไหนบ้าง จอร์จ โซรอส พัฒนาหลักการในเรื่อง Reflexivity ที่ทำให้เขาได้เปรียบในแง่ของการประเมินปัจจัยพื้นฐาน และเป็นสิ่งที่ทำให้เขาทำผลตอบแทนได้เหนือกว่ากองทุนอื่น ๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ทักษะที่จะเหนือกว่าคนอื่น มันคือสิ่งที่เราต้องฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ เราต้องอยู่กับตลาดจนกว่าเราจะมองเห็น แล้วเราจะอุทานว่า “นี่คือจังหวะเทรดเฉพาะตัวของเรา” ทั้งหมดนี้คุณอาจฝึกฝนผ่านบัญชีทดลอง ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้คุณสามารถทดลองเทรด Forex, Gold หรือสินทรัพย์ทางการเงินสำคัญใด ๆ ได้ทั้งหมด ด้วยเงินจำลอง คุณสามารถเรียนรู้ตลาดนี้ได้โดยไม่มีความเสี่ยงใด ๆ เลย เริ่มต้นง่าย ๆ คลิกที่ปุ่มด้านล่าง

aximtrade
aximtrade broker