Aximdaily
แนวโน้มเศรษฐกิจ

5 วิกฤตการณ์เศรษฐกิจในปี 2022

วิกฤตการณ์เศรษฐกิจในปี 2022 เป็นปีที่เป็นจุดเปลี่ยนในการเมืองและระบบการเงินโลก มันคือการสิ้นสุดของยุค ๆ หนึ่ง ไปสู่อีกยุค ๆ หนึ่ง เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันมากมาย ตั้งแต่สงครามภูมิภาคยูเครน-รัสเซีย ไปจนถึงการล่มสลายของตลาด Cryptocurrency

เหตุการณ์ที่เป็นวิกฤตการณ์เศรษฐกิจดังกล่าว ส่งผลกระทบถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนไปอย่างสิ้นเชิง บ้านส่งผลกระทบ 1-2 ปี แต่บางอย่างก็เปลี่ยนโครงสร้างในระดับ 10 ปี และในบทความนี้จะสรุป 5 วิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่สำคัญในปี 2022

1. วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน

สงครามยูเครน-รัสเซีย คือ วิกฤตการณ์เศรษฐกิจอย่างแท้จริง หลายสำนักข่าวมองว่า นี่คือ “จุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 3” โดยวันที่รัสเซียบุกยูเครนอย่างเป็นทางการ คือ 24 กุมภาพันธ์ 2022 UNHCR รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตหลายพันคนระหว่างการเข้าบุกดินแดนยูเครน ส่งผลให้เกิด “วิกฤตผู้ลี้ภัย” ครั้งใหญ่ที่สุดของยุโรป นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง

ประมาณช่วงเดือนพฤษภาคม ประชาชนประมาณ 8 ล้านคนต้องอยู่ในสภาวะ “พลัดถิ่น” โดยมีชาวยูเครน 7.8 ล้านคนสามารถหลบหนีออกจากประเทศได้ภายในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2022 ตามรายงานสถานการณ์ยูเครนของ UNHCR และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมา คือ ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น, สินค้าจากรัสเซียมีราคาสูงขึ้น เช่น ปุ๋ย, เคมีภัณฑ์ เป็นต้น

และจากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รัสเซียและยูเครนต่างเป็นผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานรายใหญ่ การหยุดชะงักของบริษัทผลิตน้ำมันที่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากสภาวะสงคราม ก็ทำให้ราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นมากกว่า 30% ในระยะเวลาอันสั้น ปัจจัยทั้งหมดนำไปสู่อัตราเงินเฟ้อในภาพรวมที่สูงขึ้นทั่วทั้งโลกอีกด้วย

5 วิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลก

2. ฟองสบู่ตลาด Cryptocurrency

ประเด็นนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในครัวเรือน เพราะว่า ผลกระทบของการล่มสลายของตลาด Cryptocurrency ถูกจำกัดอยู่แค่กองทุนเก็งกำไรและนักลงทุนส่วนบุคคล (ที่อาจกู้เงินมาลงทุน) เศษซากของการพังทลายทำให้นักลงทุนตระหนักได้อย่างแท้จริงแล้วว่า Cryptocurrency จัดเป็น “สินทรัพย์เสี่ยง” ที่ไม่สามารถปกป้องเงินลงทุนจากนโยบายการเงินที่เข้มงวด หรือไม่เป็นแม้กระทั่งเครื่องมือในการป้องกันเงินเฟ้อ

ก่อนหน้านี้ ตลาด Cryptocurrency เริ่มต้นปี 2022 ด้วยความหวังและการคาดการณ์ที่สดใส (มากเกินกว่าที่ควรจะเป็น) Bitcoin และ Ethereum (ETHUSD) ซื้อขายกันที่ 47,000 ดอลลาร์และ 3,800 ดอลลาร์ตามลำดับ และขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 68,000 ดอลลาร์ และ 4,600 ดอลลาร์ ในเดือนพฤศจิกายน 2021 นักลงทุนที่เชื่อมั่นในอนาคตของ Bitcoin มองว่า “เงินเฟ้อ” (ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสงครามยูเครน-รัสเซีย) คือปัจจัยที่จะดันราคา Bitcoin ไปพุ่งสู่ดวงจันทร์!

อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อที่เคยเป็นความหวัง (นักลงทุนเชื่อว่า Bitcoin คือ เครื่องมือปกป้องเงินเฟ้อ) ก็ผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของตลาดทางการเงินทั้งหมดปรับตัวสูงขึ้น นำไปสู่การเทขายของตลาด Cryptocurrency และเกิดเป็น “Domino Effect” อันนำไปสู่การล่มสลายของ FTX ซึ่งเป็นกระดานซื้อขายที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก

วิกฤตเหรียญ Luna

วิกฤตการณ์ Crypto ที่ขอยกมาต่างหาก คือ การพังทลายของเครือข่าย Terra ที่จุดเริ่มต้นมาจากการใช้กลไกพิเศษในการตรึงมูลค่า “UST” หรือ TerraUSD ซึ่งเป็นเหรียญประเภท Stablecoin ที่ตรึงมูลค่าไว้กับค่าเงินสหรัฐ (USD) กลไกการตรึงราคาใช้ “Algorithm” ในการจัดการปริมาณเหรียญ ซึ่งอ้างว่า การจัดการด้วยวิธีการดังกล่าวจะมีความโปร่งใสมากกว่าวิธีการของธนาคารกลางทั่วไป

  • อย่างไรก็ตาม กลไกดังกล่าวไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาวได้ จึงถูกเทขายและนำไปสู่การล่มสลายในที่สุด กองทุน Three Arrows Capital ซึ่งเคยได้ Hedge Fund ดาวรุ่งในสายคริปโต เกิดการขาดทุนอย่างหนักจนถึงขั้นล้มละลายไปตาม Terra ประเด็นนี้ทำลายความเชื่อมั่นในตลาด Cryptocurrency ไปโดยสิ้นเชิง

3. วิกฤตการเมืองอังกฤษ

ในเดือนตุลาคม 2022 อังกฤษได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่นามว่า “Rishi Sunak” กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ในรอบ 6 ปี และนั่นก็สะท้อนถึงความผันผวนของการเมืองอังกฤษในครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา การเปลี่ยนผู้นำบ่อยครั้งถือเป็นหนึ่งในวิกฤตการณ์เศรษฐกิจสำหรับอังกฤษ ซึ่งจะทำให้ไม่มีความต่อเนื่องในการรับมือกับปัญหา Brexit ที่กำลังตามมา

นอกจากเรื่องการเมืองภายในประเทศแล้ว อังกฤษยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบสูงมากประเทศหนึ่งจากวิกฤตยูเครน-รัสเซีย หนึ่งคืออังกฤษประสบปัญหาในการควบคุมราคาพลังงานภายในประเทศเป็นทุนเดิมมาตั้งแต่ปี 2018 อยู่แล้ว สงครามดังกล่าวทำให้อังกฤษไม่สามารถรับมือกับต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นอย่างกะทันหันได้ สุดท้ายดันให้อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษพุ่งสูงถึง 15%

เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในรอบหลายทศวรรษ นอกจากผลกระทบโดยตรงจากเรื่องของเงินเฟ้อแล้ว แน่นอนว่ายังเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่สั่นคลอนลงอย่างมาก การลงทุนระยะยาวในสกุลเงินอื่น ๆ ที่มีเสถียรภาพทางการเมืองสูงกว่าอังกฤษย่อมเป็นทางเลือกที่ดูจะปลอดภัยกว่า

4. เงินเฟ้อสูงเป็นประวัติการณ์

วิกฤตการณ์เศรษฐกิจในปี 2022 ที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยก็คือ “เงินเฟ้อ” มันเป็นปีที่เกิดภาวะเงินเฟ้อในระดับที่รุนแรงที่สุดในรอบกว่า 50 ปี หรือตั้งแต่ 1970

ประเด็นยูเครน-รัสเซีย ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (อย่างที่ได้เกริ่นไปบ้างแล้ว) อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อสะสมที่เป็นผลพวงจากเหตุการณ์เศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี 2018 ที่เกิดประเด็นสงครามทางการค้าระหว่าง จีน-สหรัฐ จนนำไปสู่การขาดแคลน “Chipset” ในการผลิตเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เงินเฟ้อในระยะยาวไม่สามารถต่ำลงกว่านี้ได้ในเร็ว ๆ นี้

นั่นหมายความว่า ในมุมของนักเศรษฐศาสตร์ เงินเฟ้อได้ฝังแน่นอยู่ในทุกอณูของทุกภูมิภาคในโลก ณ ปัจจุบันไปเป็นที่เรียบร้อย วัตถุดิบในการผลิตสินค้าและบริการมีราคาเพิ่มสูงขึ้น แต่ราคาขายปลีกของสินค้าและบริการดังกล่าวในจำนวนมาก ยังไม่ได้สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการแทรกแซงของทางภาครัฐเพื่อไม่ให้ประชาชนรับผลกระทบหนักเกินไป อย่างไรก็ตามสภาวะนี้ไม่สามารถคงอยู่ได้นาน สุดท้ายแล้วราคาสินค้าปลีกต่าง ๆ จะแพงขึ้นตามต้นทุนที่แท้จริง

ธนาคารกลางทั่วโลกต่างขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งนำไปสู่การปรับตัวลงของสินทรัพย์ขนาดใหญ่ เช่น ราคาบ้าน, สินค้าฟุ่มเฟือย ฯลฯ ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับตัวลงของราคาสินค้าขายปลีก แต่ทั้งนี้ IMF ก็เตือนว่า การเรียงแถวกันขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก แม้จะนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อที่ทุเลาลง แต่มันก็หมายถึงโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะหดตัวและเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่า “Recesssion”

5. วิกฤตการณ์ดอลลาร์แข็งค่า

ในปี 2022 สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นราว 14% จากราคาเปิดในต้นปี สร้างความผันผวนให้กับตลาด Forex ในภาพรวมอย่างหนัก U.S. Dollar Index แตะระดับสูงที่สุดในรอบกว่า 20 ปี ทำให้เงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าลง 20%, เงินหยวนของจีนอ่อนค่าลง 9%, รูปีอินเดียอ่อนค่าลง 7% หรือแม้แต่สกุลเงินที่มีเสถียรภาพสูงอย่าง “ฟรังก์สวิส” ที่อ่อนค่าลงถึง 5%

วิกฤตการณ์เศรษฐกิจดอลลาร์แข็งตัว

ในภาพรวมแล้ว การที่สกุลเงินของทุกประเทศทั่วโลกอ่อนค่าลงนั้น จะทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าสำคัญโดยเฉพาะ “สินค้าโภคภัณฑ์” นั้นแพงขึ้นอย่างมาก เช่น น้ำมันดิบ ซึ่งนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้ปัญหาอัตราเงินเฟ้อรุนแรงเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การแข็งค่าของ USD ถือเป็นหนึ่งในวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจสำหรับกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) เนื่องจากต่างประเทศดังกล่าวมีหนี้สินเป็นสกุลเงิน USD ค่อนข้างมาก

วิกฤตการณ์เศรษฐกิจจะลามไปสู่ Recession ในปี 2023 หรือไม่?

จากข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ (CEBR) ของ Bloomberg คาดการณ์ว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ “Recession” มีแนวโน้มที่จะเริ่มขึ้นได้ในปี 2023 แม้ขนาดของเศรษฐกิจของทั้งโลก จะขยายตัวทะลุ 100 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรกในปี 2022 แต่นี่ก็อาจจะเป็นจุดสูงสุดที่คงไม่กลับมาแตะระดับนี้ในอีกเร็ว ๆ นี้ก็เป็นไปได้ 

Kay Daniel Neufeld ผู้อำนวยการและหัวหน้าฝ่ายพยากรณ์ของ CEBR กล่าวว่า “อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนั้นมีแนวโน้มที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกถดถอยในปีหน้า” ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น (จ่ายดอกเบี้ยสินเชื่อแพงขึ้น) คือสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจหดตัว

  • เขายังเชื่อว่า “สงครามกับเงินเฟ้อยังไม่สิ้นสุด และคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางจะยังคงดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวต่อไป แม้ว่าจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจก็ตาม”

สำหรับผลสำรวจในภาพรวมของนักเศรษฐศาสตร์ที่มองว่าจะเกิด “สภาวะถดถอย” (Recession) ในอีก 12 เดือนข้างหน้า เพิ่มขึ้นจาก 49% เป็น 63% (ข้อมูลในไตรมาสสุดท้ายของปี 2022) ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่เปอร์เซ็นต์การคาดการณ์สูงกว่า 50% ดูเหมือนว่าเรากำลังจะมุ่งหน้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว

aximtrade
aximtrade broker