Aximdaily
Dow Theory

Dow Theory คืออะไร และใช้วิเคราะห์ราคาหุ้นได้อย่างไร?

“ทฤษฎีดาว” หรือ Dow Theory คือ กรอบแนวคิดหนึ่งในการวิเคราะห์กราฟราคาหุ้น, ค่าเงิน ฯลฯ ให้ความสำคัญกับการพิจารณารอบของการสวิงของราคาว่าเกิด “จุดสูงสุดใหม่” หรือ “จุดต่ำสุดใหม่” หรือไม่ (New High, New Low) ซึ่งการที่จะทราบว่า เกิดจุดสูงสุดหรือต่ำสุดหรือยัง นักวิเคราะห์จะรอให้เกิดการกลับตัวที่ชัดเจนในสวิงนั้นๆ ของราคาก่อน จึงจะนับเป็นจุด New High หรือ Low

Dow Theory เดิมทีเป็นเพียงมุมมองของ Charles Henry Dow นักข่าวสายตลาดหุ้นที่จะเขียนบทความเกี่ยวกับวิธีการมองแนวโน้มของตลาดไว้ในหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal (WSJ) ภายหลังมีผู้สนใจแนวคิดดังกล่าว รวบรวมไว้เป็นหลักทฤษฎี โดยในบทความนี้ จะแบ่งอธิบายเป็น 3 หัวข้อใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้

  1. หัวใจของ Dow Theory : แต่ละสวิงมีความหมาย
  2. การประกอบเป็นแนวโน้ม ตามหลัก Dow Theory
    • แนวโน้ม “หลัก” และ “รอง” : เวลา
    • การปรับฐานไปเป็น “แนวโน้มรอง” : ระยะทาง
    • แนวโน้มย่อย
  3. การประยุกต์ใช้ Dow Theory ในตลาดจริง : แนวคิดเรื่องการ “ทดสอบราคา”

หัวใจของทฤษฎี Dow Theory

แกนกลางในแนวคิดของ Dow Theory เป็นการอธิบายภาพรวมของ “แนวโน้ม” เป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่า กรอบทฤษฎีดาว ถูกออกแบบมาใช้กับการ “เทรดตามแนวโน้ม” อีกทั้งแนวคิดดั้งเดิมยังมีการใช้ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมมายืนยันความแข็งแกร่งของแนวโน้มอีกรอบหนึ่ง โดยในตอนนั้น ตัวของ Charles H. Dow จะใช้อุตสาหกรรมการผลิตและรถไฟเป็นดัชนียืนยัน เพราะเป็นหัวใจของเศรษฐกิจในยุคนั้น

นอกจากนี้จะมีการอธิบายถึงปริมาณการซื้อขายหรือ Volume ที่ต้องสอดรับกับแนวโน้มด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักวิเคราะห์รุ่นหลังให้ความสำคัญมากที่สุด คือเรื่อง “ราคา”

ทั้งนี้ เมื่อราคาเกิดการกลับตัวในแต่ละสวิงและเกิดเป็นจุด New High-Low ขึ้นมาใหม่ดังที่อธิบายไว้ข้างต้น ถ้าเกิด New High อย่างต่อเนื่องก็นับเป็นสภาวะราคาที่เป็น “ขาขึ้น” โดยแนวโน้มขาขึ้นที่แข็งแรงก็จะสร้างจุดต่ำสุดที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ซึ่งถ้าไม่ได้สร้างจุดต่ำสุดที่สูงขึ้น หรือสูงขึ้นไม่มาก ก็ย่อมหมายถึงสภาวะของราคาที่อ่อนแรงลง

Dow Theory คือ

ภาพ 1.1 – แสดงตัวอย่างการวิกราฟด้วยทฤษฎีดาว ซึ่งอาศัยการสังเกตจุดสูงสุดหรือจุดต่ำสุดใหม่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการพิจารณาสภาวะตลาด ซึ่งจะเห็นว่า ในที่จุด [5] เกิดการกลับตัวลงมาก่อน ไม่สามารถขึ้นไปทำจุดสูงสุดให้สูงกว่า [4] ได้

ในทางตรงกันข้าม หากเป็นแนวโน้ม “ขาลง” ก็จะมีลักษณะของการสร้าง New Low อย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าวันใดเกิดการสวิงที่ไม่ได้สร้าง New Low หรือเป็น New Low ที่ต่ำลงไม่มาก ก็หมายถึงความแข็งแกร่งของแนวโน้มขาลงกำลังอ่อนแอ และอาจหมายถึง การเปลี่ยนทิศทางในอนาคต และนี่คือนัยยะของสิ่งที่บอกว่า “แต่ละสวิงมีความหมาย” เพราะแต่ละสวิงจะเป็นตัวบอกว่า แนวโน้มอ่อนแรงลงหรือยังแข็งแกร่งอยู่ (ดูว่า New High, New Low หรือไม่)

Dow Theory คือ การวิเคราะห์ทางเทคนิค

ภาพ 1.2 – “แต่ละสวิงมีความหมาย” โดยตั้งแต่ [1]-[3] เราจะเห็นว่า ในกรอบแนวโน้มขาลง ได้มีการทำ New Low อย่างต่อเนื่องๆ จนมาถึงจุดที่ [4] หลังจากที่รอให้ราคากลับตัวแสดงจุดสวิงแล้ว จะเห็นว่า การสวิงในรอบนี้ไม่ได้ทำ Low ใหม่แต่อย่างใด นั่นก็ย่อมแปลว่า แนวโน้มขาลงในระยะสั้น ได้หมดแรงหรืออ่อนแรงลงแล้ว ซึ่งต้องมารอดูต่อว่า จะกลับตัวเป็นขาขึ้นหรือลงต่อ โดยในกรณีนี้ กราฟใช้เวลาสักพัก ก่อนจะกลับเป็นขาลงเหมือนเดิม

แนวโน้มหลัก, แนวโน้มรอง ของทฤษฎี Dow Theory

1] – แนวโน้ม “หลัก” และ “รอง” : เวลา

หลังจากได้เรียนรู้วิธีการนับหรือสังเกต “สวิง” ของราคาแล้วว่าเป็น New High หรือ New Low หรือไม่แล้วนั้น จะสังเกตได้ว่า พอหลายๆ สวิงมารวมกัน ย่อมประกอบกันเป็น “กรอบแนวโน้ม” โดย Dow Theory ได้แบ่งแนวโน้มออกเป็น 3 ระดับทั้งในแง่ของ “ระยะเวลา” และ “ระยะทางของราคา” คือ แนวโน้มหลัก แนวโน้มรอง และแนวโน้มย่อย

นักลงทุนส่วนใหญ่มักโฟกัสเฉพาะแนวโน้มหลักและรองเท่านั้น เพราะมองว่า แนวโน้มย่อย เป็นเพียงความผันผวนในระยะสั้นๆ ไม่ได้มีนัยยะสำคัญ แต่ ! ต้องตระหนักไว้เสมอว่า มุมมองต่อการเทรดและต่อกรอบเวลาที่แตกต่างกัน ย่อมทำให้นักลงทุนแต่ละคนให้ความสำคัญกับแนวโน้มที่แตกต่างกัน และนำไปสู่การใช้กลยุทธิ์การลงทุนที่แตกต่างกันด้วย

ทั้งนี้ตามแนวคิดของทฤษฎีดาว “แนวโน้มหลัก” คือ แนวโน้มที่กินระยะเวลาตั้งแต่ 1 ปี หรืออาจหลายปี ส่วนแนวโน้มรองจะกินเวลา 3 สัปดาห์ถึง 3 เดือน หรือพูดง่ายๆ คือ

  • แนวโน้มหลักประมาณ 1 ปีหรือมากกว่า
  • แนวโน้มรองจะราวๆ 1-3 เดือน

จะเห็นว่า แนวคิดสำคัญของทฤษฎีดาวดาวในการแบ่งแยกแนวโน้ม ก็คือ “ระยะเวลา” แต่ปัญหาใจปัจจุบันคือ “วัฏจักรธุรกิจ” (Business Cycle) เกิดการผันผวนและแปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็วจากเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเก่าๆ ทำให้มีธุรกิจที่โตเร็วและจากไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้ราคาสินค้า ราคาวัตถุดิบ ไปจนถึงราคาของสินทรัพย์ทางการเงินมีวัฏจักรที่สั้นและความผันผวนกว่าแต่ก่อน

การกำหนดระยะเวลาตายตัวเพื่ออธิบายว่า อะไรเป็นแนวโน้มหลักหรือรอง จึงกลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัย โดยเฉพาะในตลาดที่มีความผันผวนมากอย่าง Crypto หรือ คู่เงิน Forex จะไม่สามารถใช้หลักการนี้ได้มีประสิทธิภาพมากนัก ดังนั้น นักวิเคราะห์สมัยใหม่จึงพัฒนาแนวคิดเรื่องระยะเวลามาเป็น “สัดส่วนของระยะเวลา” โดยเมื่อมีแนวโน้มหลักเป็นตัวตั้ง แนวโน้มรองจะกินระยะเวลาราวๆ 10-30 % ของแนวโน้มหลัก ทั้งนี้ แนวคิดเรื่อง “สวิง” ก็นำไปสู่กลยุทธ์ที่เรียกว่า Swing Trading อีกด้วย

Dow Theory คือ การวิเคราะห์ทางเทคนิค

ภาพ 1.3 – แนวคิดเรื่องสัดส่วนเวลา เราสามารถประยุกต์ใช้ในไทม์เฟรมที่เล็ก ๆ ได้ ในกรอบใน [1] เราจะพิจารณาให้เป็นแนวโน้มหลัก ซึ่งกินระยะเวลาประมาณ 4 วัน โดยสิ่งที่ตามมาคือ “แนวโน้มรอง” ใน [2] แต่กินระยะเพียง 1 วันหรือประมาณ 25% ของแนวโน้มหลักนั่นเอง

2] – การปรับฐานไปเป็น “แนวโน้มรอง” : ระยะทาง

แม้ “กรอบเวลา” จะเป็นที่นิยมในหมู่นักเทรดมืออาชีพ เพราะกรอบเวลาของแนวโน้มจะส่งผลต่อกลุยทธิ์ที่ใช้ แนวโน้มหนึ่งๆ ที่ยาวนาน จะทำให้เทรดเดอร์ไม่ต้องวางกลยุทธิ์ใหม่หรือไม่ต้องเปลี่ยนแผนบ่อยๆ แต่กรอบเวลาและสัดส่วนดังกล่าว มักไม่ค่อยเป็นจุดที่ได้รับความสนใจในหมู่นักเทรดหน้าใหม่ เนื่องจากเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยากกว่าระดับราคา

อย่างไรก็ตาม Dow Theory ก็มีการกล่าวเรื่องนี้ไว้ประกอบกับเรื่องสัดส่วนเวลาว่า แนวโน้มรอง (ปรับฐานจากแนวโน้มหลัก) สามารถวิ่งลงลึกได้ตั้งแต่ 1/3 หรือ 2/3 ของแนวโน้มหลัก

อธิบายอย่างง่าย คือ หากแนวโน้มหลักวิ่งขึ้นมา 100 Pips ก็จะปรับฐานเป็นแนวโน้มรองลงไป อาจจะ 30 Pips หรือ 60 Pips ก็ได้ แต่ Charles H. Dow ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ราคามักจะปรับฐานราวๆ 50 % หรือครึ่งนึงพอดี ซึ่งนำไปสู่แนวคิดการวัดการปรับฐานด้วยสัดส่วน Fibonacci โดยสามารถดูตัวอย่างได้จากภาพ 1.4 ด้านล่างนี้

Dow Theory คือ การวิเคราะห์ทางเทคนิค

ภาพ 1.4 – กราฟ USDJPY รายเดือน, ตั้งแต่ 2011 – 2020, จะเห็นว่า [1] คือแนวโน้มหลัก โดยครั้งนี้ไม่ได้สนใจเรื่องระยะเวลาใดๆ และ [2] คือแนวโน้มรองที่ปรับฐานลงมา ซึ่งแนวโน้มรองมาสิ้นสุดที่ระดับ 50% ของแนวโน้มหลักพอดี

3] – แนวโน้มย่อย

Dow Theory มองว่า แนวโน้มย่อยจะเป็นเพียงความผันผวนระยะสั้นที่กินระยะเวลาไม่เกิน 3 สัปดาห์ ซึ่งเป็นการพยายามอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากการเกิด “แนวโน้มรอง” โดยแนวโน้มย่อยมักเคลื่อนไหวเป็นกรอบแคบๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง โดยนักวิเคราะห์รุ่นใหม่มักให้ข้อสังเกตว่า กรอบแนวโน้มย่อยดังกล่าว มักเป็นกรอบที่ความผันผวนต่ำลงหรือปริมาณการซื้อขายซบเซา และการทะลุออกจากกรอบแนวโน้มย่อย มักเป็นจุดเริ่มต้นของแนวโน้มใหญ่ครั้งใหม่

Dow Theory คือ การวิเคราะห์ทางเทคนิค

ภาพ 1.5 – ในกรอบ [1] คือแนวโน้มหลัก ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆ และ [2] คือการปรับฐานของแนวโน้มขาลงขึ้นไปเป็นแนวโน้มรอง เราเรียกพฤติกรรมของแนวโน้มที่วิ่งสวนทางแนวโน้มหลักขึ้นมาว่า “Pullback” และในตลาดที่มี Cycle มากๆ หรือผันผวนสูง หลังจับการ Pullback มักตามมาด้วยแนวโน้มย่อยหรือกรอบการเคลื่อนไหวที่แคบๆ อย่างที่เห็นใน [3] และสิ่งที่นักลงทุนจับตามอง คือ ราคาจะ Breakout จากกรอบแนวโน้มย่อยไปทิศทางใด

การเทรดโดยใช้ DOW THEORY ในตลาดหุ้นจริง

Charles H. Dow ได้ทิ้งข้อสังเกตหนึ่งไว้สั้นๆ แต่กลับมีความหมายมากที่สุด นั่นคือการเขามองว่า ราคาหุ้นมักมีพฤติกรรมซ้ำๆ ที่เขาเรียกว่า The Law of Action and Reaction หรือ “กฎของการกระทำและการตอบสนอง” อธิบายก็คือ เมื่อราคาทำ New High (Action) และกลับตัวปรับฐานมาเสร็จแล้ว ราคาจะ “Pullback” ไปจุดสูงสุดอีกครั้ง เพื่อทดสอบว่า (Reaction) จะผ่านจุดสูงสุดขึ้นไปหรือ “ไม่ผ่าน” แล้วก็ค่อยตกลงมา

แนวคิดนี้นำไปสู่หลักการพื้นฐานที่เรียกว่า “การทดสอบของราคา”

เมื่อนำมาผสมกันแล้ว จะได้ว่า Dow Theory คือการใช้จุดสวิงที่เคยเป็น High, Low เป็นจุดสังเกตว่า ราคาจะตอบสนองต่อแนวดังกล่าวอย่างไร (Reaction) หากไม่สามารถผ่าน High ที่แล้วได้ ราคาก็มักจะถูกตบให้ร่วงลงด้วยความแรงที่มากกว่าปกติ (ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเรียนรู้ผ่านวิชาที่เรียกว่า Price Action ได้เช่นกัน) ดูตัวอย่างจากภาพ 1.6 ด้านล่าง

Dow Theory คือ การวิเคราะห์ทางเทคนิค

ภาพ 1.6 – ที่ด้านซ้านสุด คือ High ในรอบที่แล้ว และเมื่อราคาวิ่งที่กลับทดสอบที่แนว High ในสี่เหลี่ยมกรอบที่ 2 แล้ว จะเห็นว่า ราคาเด้งกลับขึ้นมาอีกครั้ง และในสี่เหลี่ยมกรอบที่ 3 ราคาได้ทะลุ High เดิมลงไป

การวิเคราะห์แนวโน้มตามแนวทางของ Dow Theory จะใช้ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อได้พิจารณาการทดสอบของราคาควบคู่ไปด้วย นักวิเคราะห์สมัยใหม่ นิยมใช้แนวราคาที่เกิดการวกกลับของราคาบ่อยๆ หรือมีการเกาะกลุ่มของราคามากๆ มาเป็นแนวสังเกตว่า ราคาจะมาทดสอบแล้วผ่านไปได้หรือไม่ นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “แนวรับ” และ “แนวต้าน” ดังนั้น แนวรับและแนวต้าน จึงเป็นสิ่งที่ใช้พิจารณาควบคู่กับการทดสอบของราคา ทั้งนี้ ลักษณะของราคาที่ทดสอบแนวดังกล่าว (Reaction) ไม่ว่าจะ “ทะลุ”, “กลับตัว” หรืออาจชะลอตัวเป็นกรอบแคบๆ นักวิเคราะห์หลายคนจะเรียก Reaction เหล่านั้นรวมๆ ว่า พฤติกรรมราคา

บทสรุปของแนวคิดทฤษฎีดาว Dow Theory

ในบทความนี้ พยายามอธิบายแนวคิดของ ทฤษฎีดาว และสิ่งที่นักวิเคราะห์สมัยใหม่ได้ปรับใช้ให้เข้ากับตลาดในปัจจุบัน ทั้งนี้ การค้นหาแนวโน้มจะเริ่มจาก [1] กำหนดว่า จุดใดคือจุดเป็น “สวิง” High-Low โดยรอให้เกิดการกลับตัวในสวิงนั้นๆ ก่อนจึงจะนับเป็น High หรือ Low ใหม่

หลังจากนั้นเป็นเรื่อง [2] การหาแนวโน้มหลักและรอง ซึ่งมักใช้การเทคนิคการตี Trendline หรือ Indicator MT4 ในกลุ่ม Moving Average มาช่วยเชื่อมแต่ละสวิงเข้าด้วยกัน โดยแนวโน้มรองจะวิ่งสวนแนวโน้มหลักและใช้ระยะเวลาหรือระยะทางที่สั้นกว่า สุดท้าย [3] เราใช้เรื่องการทดสอบของราคา เป็นตัวช่วยในการประเมินทิศทางหลังจากหาแนวโน้มได้แล้ว

aximtrade
aximtrade broker