เคยเจอเหตุการณ์ที่มีบุรุษใส่สูท ขับรถหรู ทักแชทมาชวนลงทุนบ้างหรือป่าว? นี่เป็นประสบการณ์ร่วมของมนุษยชาติ บุคคลลึกลับที่อ้างว่าตัวเองเป็น Hedge Fund Manager ที่สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาพลักษณ์ของผู้ชักชวนที่มีไลฟ์สไตล์หรูหรา บางทีเราก็หลงเชื่อว่านี่เป็นข้อเสนอการลงทุนที่ “ปฏิเสธไม่ได้”
คำว่า “Hedge Fund” นี่ยิ่งเพิ่มน้ำหนักความน่าเชื่อถือ เพราะเพราะมันมีตำนาน Hedge Fund Manager ตัวจริงอย่าง จอร์จ โซรอส, เรย์ ดาลิโอ ที่ร่ำรวยเป็นหมื่นเป็นแสนล้านจากการนั่งเทรดหุ้น ประหนึ่งว่ามันเป็นคำที่สูงส่ง เป็นยศฐาบรรดาศักดิ์ที่ต้องอาศัยประสบการณ์ยาวนานนับ 10 ปี จึงจะสามารถก่อตั้ง Hedge Fund แต่คุณรู้หรือไม่ว่าจริง ๆ แล้ว ใคร ๆ ก็สามารถตั้ง Hedge Fund ขึ้นมาเองได้ และจริง ๆ ก็ใช้เงินไม่กี่บาท!
บทความนี้จะพาคุณไปศึกษาเพิ่มเติมว่า จริง ๆ แล้ว Hedge Fund คืออะไร? มีกลยุทธ์การลงทุนอย่างไรบ้าง แบบไหนจริงแบบไหนหลอก และเราควรจะระวังคนที่มาชักชวนการลงทุนในประเภทนี้ได้อย่างไร
Hedge Fund คืออะไร?
กองทุนเฮดจ์ฟันด์ หรือ Hedge Fund คือกองทุนที่จัดตั้งขึ้นมาเป็นบริษัทอิสระในการรวบรวมเงินลงทุนเพื่อเอาไปลงทุนด้วยกลยุทธ์ที่คาดว่าสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนโดยทั่วไป กลยุทธ์ดังกล่าวมักเกี่ยวข้องกับการใช้ตราสารอนุพันธ์ที่ซับซ้อน, การใช้เลเวอเรจ รวมถึงการเลือกเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่าง ๆ เช่น คู่เงิน Forex, หุ้นกู้, พันธบัตรของประเทศกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น
ด้วยลักษณะดังกล่าว Hedge Fund ในกฎหมายของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จึงมักมีข้อกำหนดว่า การระดมทุนของ Hedge Fund ต้องเป็นความยินยอมและต้องมีการแสดงตัวตนว่า ผู้ที่จะเข้าไปลงทุนในกองทุน Hedge Fund เป็นผู้ที่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้สูง และมีเงินทุนในระดับสูงมาก ธุรกิจของ Hedge Fund ในสหรัฐฯ หรืออังกฤษ จึงไม่ใช่เป็นสิ่งที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายสำหรับนักลงทุนรายย่อยทั่วไป
โครงสร้างบริษัทของ Hedge Fund
ความจริงแล้ว Hedge Fund คือ บริษัททั่ว ๆ ไปที่มีการจัดตั้งตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยส่วนใหญ่ผู้จัดตั้งจะเลือกรูปแบบเป็น “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” (Limited Partnerships) หรือ บริษัทจำกัด (LLCs) ซึ่งแตกต่างจาก “กองทุนรวม” ของประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่ต้องจัดตั้งตามกฎหมายหลักทรัพย์โดยตรง ดังนั้น ในเบื้องต้นใครก็สามารถก่อตั้ง Hedge Fund ขึ้นได้มาทันที
รูปแบบของโครงสร้างทางกฎหมายของ Hedge Fund แต่ละแห่ง ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ก่อตั้ง Hedge Fund โดยความแตกต่างระหว่าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด กับ บริษัทจำกัด จะเป็นเพียงเรื่องข้อกฎหมายและความรับผิดชอบของหุ้นส่วนแต่ละรายเท่านั้น ไม่ได้บ่งชี้ถึงศักยภาพของกองทุน หรือรูปแบบกลยุทธ์แต่อย่างใด

ดังนั้นในเบื้องต้น หากมีคนชักชวนมาลงทุนและอ้างว่า เป็น Hedge Fund Manager คุณอาจทดลองถามกลับว่า Hedge Fund ของเขาเหล่านั้น จดทะเบียนบริษัทเป็นรูปแบบใด เป็นบริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือจัดตั้งกองทุนตามกฎหมายฉบับไหน? หากพวกเขาบ่ายเบี่ยงที่จะตอบคำถามนี้ ฟันธงว่าเป็น “นักตุ้มตุ๋น” อย่างแน่นอน
ประเภทของ Hedge Fund
ไม่ได้มีเกณฑ์ตายตัวในการแบ่งประเภทของ Hedge Fund แต่โดยทั่วไป จะแบ่งตามกลยุทธ์หรือสินทรัพย์ที่เข้าไปลงทุน เพียงแต่ในปัจจุบันกองทุน Hedge Fund จะไม่ค่อยนิยมก่อตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อลงทุนหรือเทรดในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งโดยเฉพาะ เพราะในปัจจุบันตลาดมีความผันผวนสูงมาก จึงต้องมีการกระจายประเภทของสินทรัพย์ออกไปหลาย ๆ ประเภท (ต่างจากสมัยก่อนที่อาจก่อตั้ง FX Fund, Oil Fund ขึ้นมาโดยเฉพาะ) ดังนั้น หากเราแบ่งประเภทของ Hedge Fund ตามกลยุทธ์ที่ใช้ อาจมองเห็นภาพรวมได้ง่ายกว่า
Long/Short Equity
กลยุทธ์ Long/Short Equity ไม่ได้มีคำอธิบายตายตัวว่าต้องมีวิธีการอย่างไร แต่โดยทั่วไปจะหมายถึง “ทำอะไรก็ได้” เพื่อที่จะสามารถทำกำไรได้ในทุกสภาวะตลาด ไม่ว่าหุ้นจะขึ้นหรือลง! แตกต่างจากกองทุนรวมโดยปกติที่จะเป็น “Buy Only” และมักไม่มีการใช้ตราสารอนุพันธ์ในการป้องกันความเสี่ยงจากสถานการณ์ต่าง ๆ แต่กลุ่ม Hedge Fund อาจใช้การเปิด “Short” เพื่อเก็งกำไรว่า “ราคาจะลง” ได้
แต่ทั้งนี้ กองทุนที่เป็น Long/Short Equity จะลงทุนแค่กลุ่ม “Equity” ตามชื่อเรียกของมัน ซึ่งหมายถึง “หุ้น” เท่านั้น แต่ในปัจจุบันอ่านมีการใช้คำศัพท์นิยามนี้อย่างทับซ้อน (ซึ่งก็ไม่ได้สำคัญอะไรกับโลกของ Hedge Fund) กองทุน Long/Short Equity มักทำกำไรได้มากกว่าคู่แข่งจากสถานการณ์ที่มีบริษัทหนึ่งบริษัทใดมีมูลค่าตลาดสูงกว่าที่ควรจะเป็น และนั่นเป็นจังหวะที่ Hedge Fund เหล่านี้จะเข้ามาเปิด Short!
Global Macro
กลยุทธ์แบบ Global Macro กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นที่พูดถึงอย่างมากหลังยุควิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2008 มีกองทุน Hedge Fund จำนวนมากที่ได้กำไรมหาศาลจากการคาดการณ์ว่า “เศรษฐกิจกำลังจะพัง” พวกเขาเหล่านั้นเปิดสถานะ Short ในหุ้นและดัชนี และเอาชนะตลาดได้ในที่สุด กองทุน Global Macro ที่มีชื่อเสียง เช่น Bridgewater Associates ของ “เรย์ ดาลิโอ” นั่นเอง
Global Macro เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ปัจจัยทางเศรษฐกิจ การเมือง และปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ที่จะผลักดันราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น เงินเฟ้อส่งผลต่อราคาทองคำอย่างไร, จีนกับการส่งออกน้ำมัน ฯลฯ โดยจะสนใจสินทรัพย์หลัก ๆ ทุกประเภท ในปัจจุบันถือว่ามีสินทรัพย์ที่เป็นเสาหลัก 4 ประเภท ได้แก่ สินค้าโภคภัณฑ์, หุ้น, สกุลเงิน และพันธบัตร ซึ่ง Hedge Fund ในสาย Global Macro จะมองว่า การเคลื่อนไหวของสินทรัพย์แต่ละประเภท จะมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
Market Neutral
ในระดับสูงแล้ว เป้าหมายจริง ๆ ของ Hedge Fund คือ การพยายามทำทุกวิถีทางที่จะสร้างรายได้จากทุกสภาวะตลาด (ซึ่งอาจจะไม่ได้สนใจว่าต้องได้ผลตอบแทนสูง) ซึ่งไอเดียของการทำกำไรจาก “ทุกสถาวะตลาด” จริง ๆ แล้วมันมีพื้นฐานจากสิ่งที่เรียกว่า “Market Neutral” ฟังดูผิวเผินจะคล้าย ๆ กับ Long/Short และอาจจะนับว่า Long/Short Equity ก็เป็นหนึ่งในรูปแบบ Market Neutral
Market Neutral คือแนวทางที่พยายาม “สร้างสมดุล” (ในมุมมองของผู้จัดการกองทุน) ให้กับสถานะการเทรดของตัวเอง เพื่อที่จะได้ประโยชน์ทั้งขาขึ้นและขาลงในเวลาเดียวกัน และคำว่า “ขึ้นลง” ก็ไม่ได้จำกัดแค่ในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง แต่อาจมองในลักษณะที่ว่า “ทุกสินทรัพย์มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน”
ยกตัวอย่าง หากเราเชื่อว่า “สกุลเงินดอลลาร์” จะวิ่งสวนทิศทางกับ “ทองคำ” เสมอ ผู้จัดการกองทุนในสาย Market Neutral ก็อาจมีทั้งสถานะ Buy ในดอลลาร์และทองคำพร้อม ๆ กัน ซึ่งเวลาที่ตลาดเคลื่อนไหว ก็อาจจะทำให้สถานะในสินทรัพย์หนึ่งได้กำไร แต่อีกสินทรัพย์หนึ่งขาดทุน ตัวของ Hedge Fund Manager ก็อาจขายสถานะที่กำไรออก และย้ายเงินไปทบในสถานะที่ขาดทุน เป็นต้น ขึ้นอยู่กับวิธีการออกแบบกลยุทธ์ แต่โดยภาพรวมจะต้องสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ในทุกช่วงเวลา