ตลาดฟอเร็กซ์เป็นตลาดระดับโลกที่เทรดเดอร์จะซื้อและขายสกุลเงินโดยมีเป้าหมายในการทำกำไรจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ข้อมูล Nonfarm payroll (NFP) เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดที่เทรดเดอร์ forex ให้ความสนใจอย่างใกล้ชิด ข้อมูลนี้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีคุณค่าเกี่ยวกับสุขภาพของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
นักเทรดฟอเร็กซ์มักใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคและปัจจัยพื้นฐานในการตัดสินใจซื้อขาย และการเผยแพร่รายงาน NFP สามารถทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นสำหรับความผันผวนของตลาดที่สำคัญ ในบทความนี้ จะพาไปทำความรู้จักกับ Nonfarm Payroll ให้มากยิ่งขึ้น!
สารบัญ
Nonfarm Payroll คืออะไร?
Nonfarm Payroll คือ สถิติการจ้างงานของประชากรสหรัฐอเมริกาในทุกภาคธุรกิจ ยกเว้นแรงงานที่ทำงานในภาคเกษตรกรรม หรือ “ฟาร์ม” จึงเรียกว่า “Non-farm” โดยถือว่าเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่บ่งชี้ว่า สุขภาพของเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กำลังมีแนวโน้มไปในทางที่ดีหรือแย่ลง โดยการที่ “คนมีงานทำเยอะ” ก็ย่อมหมายถึง เศรษฐกิจและธุรกิจของสหรัฐฯ กำลังแข็งแกร่ง และมีกำลังในการจ้างแรงงาน
ตัวเลข Nonfarm Payroll มีความสำคัญอย่างไร?
Nonfarm Payroll เป็นตัวเลขอย่างเป็นทางการที่ประกาศโดย Bureau of Labor Statistics หรือ “BLS” ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ “กระทรวงแรงงาน” ของสหรัฐฯ จึงถือว่าเป็น “ตัวเลขที่มีความถูกต้อง” และน่าเชื่อถือมากที่สุด (มีองค์กรเอกชนจำนวนมากที่แข่งกันเก็บสถิติแรงงาน ไม่ได้มีแค่ BLS ที่ทำเรื่องนี้)
โดย “จำนวนคนมีงานทำ” แบบ Nonfarm นั้น หากนับภาคธุรกิจที่เป็นผู้จ้างงานของคนมีงานทำดังกล่าวรวมกันแล้ว จะกินสัดส่วนประมาณ 4 ใน 5 ของ ตัวเลข GDP ของสหรัฐฯ หรือหมายความอย่างที่เกริ่นไปบ้างแล้วว่า ตัวเลขคนมีงานทำแบบ “Nonfarm Payroll” ย่อมสะท้อนถึงสภาวะโดยรวมของเศรษฐกิจได้ชัดเจนกว่าตัวเลขอื่น ๆ (อย่างน้อย ๆ ก็ตีความได้ว่า สะท้อนภาพรวมได้ถูกต้องถึง 80% จาก GDP)

ทำไมไม่นิยมวิเคราะห์ตัวเลข “Farm” ควบคู่กับ Non-Farm
เป็นพัฒนาการของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ (และพื้นที่ส่วนใหญ่ทั่วโลก) ที่การทำฟาร์มจะทำเฉพาะบางฤดูกาล จึงทำให้การจ้างงานมีความไม่แน่นอน และคนหนึ่งคน หรือ “คนหนึ่งกลุ่ม” อาจทำหลายงานพร้อมกัน ซึ่งแปรผันไปตามฤดูกาลและสภาพฝนฟ้าอากาศ ก็ยิ่งทำให้สถิติคนทำฟาร์มมีความผันผวน
นอกจากนี้ การเก็บสถิติในภาคเกษตรกรรมก็ทำได้ค่อนข้างยากลำบาก ทั้งความซับซ้อนของลักษณะของงาน ประกอบกับการค่อย ๆ ผนวกกับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่มีการใช้ “เครื่องจักร” สำหรับการเกษตร ทำให้คนงานในภาคเกษตรกรรมลดน้อยลงมาก ซึ่งด้วยปัจจัยทั้งหมดนี้ ทำให้ตัวเลขคนทำงานในฟาร์ม อาจไม่ได้สะท้อนภาพรวมของเศรษฐกิจในแบบที่นักเศรษฐศาสตร์ต้องการ