ในตลาด Forex มีคู่เงิน Forex ที่นิยมเทรดกันราว 20-30 คู่สกุลเงิน ซึ่งจะเป็นการผสมกันระหว่างสกุลเงินใหญ่ ๆ ไม่กี่สกุลเงิน ได้แก่ USD, EUR, GDP, CHF, JPY เป็นต้น แต่การที่เทรดเดอร์จะเฝ้าติดตามราคาของทุกคู่เงินนั้น เป็นเรื่องที่กินพลังงานเยอะมาก และความจริงของตลาด คือ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) มีอิทธิพลต่อตลาดมากที่สุด ดังนั้น เราจึงนิยมพิจารณาตลาดจากดัชนีดอลลาร์ หรือ “DXY”
สารบัญ
DXY คืออะไร?
DXY คือ สัญลักษณ์ที่ใช้เรียกแทน US Dollar Index หรือ “ดัชนีดอลลาร์สหรัฐ” เป็นการวัดค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับตะกร้าสกุลเงินหลัก 6 สกุล โดยพิจารณาจากอัตราแลกเปลี่ยนของ 6 สกุลเงินเหล่านั้น ดัชนี DXY ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวบ่งชี้ความอ่อนแอหรือความแข็งแกร่งของเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ถือเป็นเครื่องมือชี้นำสัญญาณในการซื้อหรือขายสกุลเงินได้
รายชื่อ 6 สกุลเงินที่เป็นองค์ประกอบในการคำนวณดัชนี DXY ได้แก่ ยูโร, เยนญี่ปุ่น, ดอลลาร์แคนาดา, ปอนด์อังกฤษ, ฟรังก์สวิส และโครนาสวีเดน ทั้งหมดล้วนเป็นสกุลเงินสำคัญในตลาด Forex
โดย “ยูโร” (Euro) เป็นสกุลเงินที่สำคัญที่สุดในดัชนีดอลลาร์ คิดเป็นน้ำหนักมากถึง 57.6% ของตะกร้า, เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) มีสัดส่วน 13.6%, ตามด้วยเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ที่ 11.9%, ดอลลาร์แคนาดา (CAD) ที่ 9.1%, โครนาสวีเดน (SEK) ที่ 4.2% และฟรังก์สวิส (CHF) ที่มีสัดส่วน 3.6% อย่างไรก็ตาม ตะกร้าสกุลเงินนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อย ๆ ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงสภาวะเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ

แน่นอนว่า สกุลเงินยูโร (EUR) เป็นสกุลเงินที่เกิดขึ้นมาใหม่ โดยก่อนหน้านี้ EUR เพิ่งถูกนำเข้ามาคำนวณใน DXY เมื่อปี 1999 ที่ผ่านมานี่เอง ซึ่งเข้ามาแทนที่ Deutsche Mark ของเยอรมนี มุมมองของการทำดัชนี DXY คือการประเมินมูลค่าของ USD เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ แปลว่า องค์ประกอบในการคำนวณควรจะพิจารณาจากประเทศคู่ค้าสำคัญ ซึ่งแปลว่า ในอนาคตก็อาจมีการพิจารณาสกุลเงิน “หยวน” ของจีน หรือ เปโซเม็กซิกัน ก็เป็นไปได้
จุดเริ่มต้นของ DXY
U.S. Dollar Index ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกโดย Federal Reserve ในปี 1973 เพื่อติดตามประสิทธิภาพของค่าเงินดอลลาร์หลังจากการล่มสลายของข้อตกลง Bretton Woods และการยกเลิก “มาตรฐานทองคำ” ซึ่งนั่นทำให้ค่าของเงินดอลลาร์ลอยตัวได้อย่างอิสระหลังจากถูกกำหนดค่าไว้ที่ 35 ดอลลาร์ต่อทองคำ 1 ออนซ์ (ตามข้อตกลง Bretton Woods)
ตั้งแต่นั้นมา U.S. Dollar Index หรือ DXY ก็ได้กลายเป็นดัชนีหลักในการประเมินมูลค่าเชิงเปรียบเทียบของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งภายหลังได้กลายมาเป็นสกุลเงินสำรองหลักของทุกประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ ดัชนี DXY จะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการโดย Intercontinental Exchange (ICE) ตั้งแต่ปี 1985
สถิติ DXY เคยแข็งค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 163.83 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 1985 ในขณะที่สถิติต่ำสุดตลอดกาลอยู่ที่ 71.58 ในวันที่ 22 เมษายน 2008 อย่างไรก็ตาม ควรทราบว่า มูลค่าของดัชนี DXY เปิดตัวที่ 100 ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นมูลค่าพื้นฐานของเงินดอลลาร์ (Base Value)

DXY, DX หรือ USDX แตกต่างกันอย่างไร?
ตัวย่อทั้ง 3 ตัวใช้เพื่ออ้างถึง “ดัชนีดอลลาร์สหรัฐ” เช่นกัน แต่ต่างกรรมต่างวาระ โดย USDX มักจะอ้างอิงถึงดัชนีดอลลาร์ดั้งเดิม เป็นยุคแรก ๆ ส่วน DX เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้โดย ICE Exchange สำหรับสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฟิวเจอร์ส) ซึ่ง DX จะตามด้วยรหัสและเดือนว่าหมดอายุตอนไหน ส่วน DXY ได้รับความนิยมมากที่สุด ใช้กันทั่วไป ซึ่งหมายถึง “Dixie”
ดังนั้น ปัจจุบันจะเหลือแค่ DX กับ DXY ที่ใช้กันบ่อย ๆ โดยขนาดสัญญาสำหรับเทรด DX ในตลาด ICE หนึ่งยูนิตจะเท่ากับ 1,000 USD ในขณะที่ DXY ที่เทรดกันบนโบรกเกอร์ Forex ทั่วไปจะเทรดด้วยตราสารที่เรียกว่า CFD ซึ่ง 1 Lot จะเท่ากับ 100,000 USD
DXY สำคัญกับเทรดเดอร์อย่างไร?
นักเทรด Forex ใช้ DXY เป็นตัวประเมินภาพรวมของตลาดว่า กำลังเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด ซึ่งสมมติฐานแบบนี้มองว่า USD คือสกุลเงินหลักที่ขับเคลื่อนตลาด ซึ่งเป็นจริงในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของตลาด เพราะหาก USD แข็งค่าขึ้น ค่าเงินในตะกร้าสินค้าที่ตรงข้ามกับ USD ก็มักอ่อนค่าลงทั้งหมด
DXY จะทำให้เทรดเดอร์สังเกตความเคลื่อนไหวของตลาดได้ง่ายกว่าการเฝ้าพิจารณาในแต่ละคู่เงิน Forex (ที่เทรดเดอร์ชอบเปิดหลาย ๆ จอพร้อมกัน) วิธีการ เช่น สมมติว่า DXY อ่อนค่าลง ก็ค่อยไปดูแต่ละสกุลเงินว่า ตัวไหนแข็งค่าขึ้น เป็นต้น แล้วค่อนหาจังหวะการเทรดอีกครั้ง
ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคา DXY
DXY ได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์ (Global Event) และข้อมูลทางเศรษฐกิจมหภาค เช่น ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของ GDP, เงินเฟ้อ (CPI) และนโยบายทางการเงินและการคลังของสหรัฐฯ ซึ่งนโยบายทางการเงินที่สำคัญที่สุด คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อ DXY โดยตรง
อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้ USD มีความน่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับนักลงทุน นำไปสู่การแข็งค่าขึ้นของ USD ในทางตรงกันข้าม เมื่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำลง ดัชนี DXY จะได้รับแรงกดดัน หรือค่อย ๆ อ่อนค่าลงเช่นกัน
ส่วนเรื่อง Global Event คือปัจจัยที่มักกระทบการค้าระหว่างประเทศ เช่น สงครามค่าเงิน, การคว่ำบาตร ซึ่งต้องไปดูว่าประเทศไหนได้รับผลกระทบ บ่อยครั้งที่เกิดการคว่ำบาตรประเทศใหญ่ ๆ ของโลก ก็อาจมีการเทขายสินทรัพย์ของประเทศนั้น ๆ แล้วย้ายเงินไปเป็นในรูปของ USD จึงทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในฐานะ “Safe Haven” หรือสินทรัพย์ปลอดภัย เมื่อเกิดสถานการณ์ที่น่ากังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจหรือการเมืองโลก
▶ เทรด Forex กับ AximTrade
ท่านที่เริ่มมีไอเดียแล้วว่า จะเริ่มต้นลงทุนในตลาด Forex หรือใช้ประโยชน์จาก US Dollar Index ได้อย่างไร คุณอาจเริ่มต้นด้วยการเปิดบัญชีทดลอง (Demo Account) เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการทำงานกับแพลตฟอร์มการเทรด การคำนวณ Lot Size ในตลาดจริงว่า มันจะได้กำไรหรือขาดทุนกันอย่างไร ลองเปิดบัญชีได้ที่แบนเนอร์ด้านล่างนี้